CMUGS: .ใส่แว่นส่องโลก EP4: Climate Change- ไม่เกี่ยวกับการเมือง? : มองผ่านกรณีน้ำท่วมเยอรมันนี

เผ่าไทย สินอำพล

………………………………………………….

“ปัญหา climate change ไม่มีคำว่าการเมือง เพราะภัยพิบัติธรรมชาติทุกครั้ง ที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนไม่ได้เจาะจงว่าจะเกิดกับรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่เกิดผลกระทบกับประชาชนและมนุษย์ทุกคน…”…ความใส่ใจเรื่องการจัดการปัญหาน้ำท่วมเชื่อมโยงเข้ากับ climate change และ GHGs และกลายเป็นยุทธศาสตร์ต่อรองสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสนามการเมืองในเยอรมนี…ตกลงแล้ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ? CMUGS Ep.4 โดยเผ่าไทย สินอำพล อยากชวนผู้อ่านทุกท่าน “ใส่แว่นส่องโลก” ตามติดกรณีน้ำท่วมในเยอรมนี เพื่อให้ตระหนักว่าเหตุใดเราจึงควรมองเรื่อง climate change ผ่านแว่นตาที่เรียกว่า “การเมือง” เรื่องการจัดการน้ำท่วม

***ขอขอบคุณภาพประกอบจาก BBC News

#CMUGeographicSociety#CMUGS#EP4#ใส่แว่นส่องโลก#น้ำท่วมเยอรมนี#ClimateChange#การเมือง

—————————-

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมากล่าวผ่าน Facebook Fanpage ของตนเองว่า “ปัญหา Climate Change ไม่มีคำว่าการเมือง เพราะภัยพิบัติธรรมชาติทุกครั้ง ที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนไม่ได้เจาะจงว่าจะเกิดกับรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่เกิดผลกระทบกับประชาชนและมนุษย์ทุกคน…” รวมถึงตอบ comment ด้วย “…นโยบายทั้งหลายต่อให้ดีแค่ไหนถ้าคนไม่ทำ ไม่ปฎิบัติตามก็เป็นเพียงตัวหนังสือบนกระดาษครับ ทุกคนต้องร่วมกันทำไม่ใช่แค่ฝ่ายการเมือง หรือเอกชน” [1] การแสดงความคิดเห็นที่วกวน สับสน และย้อนแย้งเช่นนี้ สะท้อนความ(ไม่)เข้าใจของรัฐมนตรีที่มีต่อต้นตอของปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ในอีกซีกโลกหนึ่งที่กำลังเกิดน้ำท่วมฉับพลันอย่างรุนแรงกลับเน้นย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองต้องไม่ทำให้เรื่อง climate change ปราศจากนัยยะทางการเมือง [2] วันนี้ จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านตามติดกรณีน้ำท่วมในเยอรมนี เพื่อให้ตระหนักว่าเหตุใดเราจึงควรมองเรื่อง climate change ผ่านแว่นตาที่เรียกว่า “การเมือง” เรื่องการจัดการน้ำท่วม

เกิดอะไรขึ้นในเยอรมนี

วันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา บริเวณลุ่มแม่น้ำไรน์ตอนเหนือ (North Rhine) รอยต่อระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ เกิดฝนตกหนักสะสมกว่า 182 มิลลิเมตร ในเวลาเพียง 72 ชั่วโมง โดยเฉพาะในเมือง Köln-Stammheim ของเยอรมนีซึ่งมีฝนตกกว่า 153 มิลลิเมตรในรอบเพียง 1 วัน ในอีกหลายพื้นที่ก็มีปริมาณฝนใกล้เคียงกัน สูงสุดในรอบ 30 ปี [3] ปริมาณน้ำฝนขนาดนี้ถือว่าเกินเกณฑ์เฉลี่ยของปริมาณฝนในเดือนกรกฎาคม ซึ่งปกติในเดือนนี้จะมีฝนเพียง 80 มิลลิเมตรเท่านั้น [4] แน่นอนว่าปริมาณฝนอันหนักหน่วงในเวลาแสนสั้นเช่นนี้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ณ วันที่ 18 ก.ค. ผู้เสียชีวิตเฉพาะในเยอรมนีทะลุ 183 ศพ ถนนขาด บ้านพังเสียหาย ถือเป็นความเสียหายจากภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษ [5] ความเสียหายนี้รุนแรง “ผิดปกติ” แต่ความผิดปกตินี้เป็นเพราะธรรมชาติอย่างเดียวจริงหรือ ?

ภาพที่ 1 สภาพความเสียหายของน้ำท่วมฉับพลันในเยอรมนี (ที่มา: [3])

การจัดการที่ “ล้มเหลว” และภูมิอากาศที่เสี่ยง

แม้ว่าจะมีการเตือนภัยล่วงหน้าแล้วว่าเหตุการณ์หายนะครั้งนี้จะเกิดขึ้น แต่ก็ยังพบว่าระบบการเตือนภัยน้ำท่วมของยุโรปล้มเหลว แม้กระทั่งรัฐมนตรีมหาดไทยของเยอรมนี ฮอสท์ ซีโฮเฟอร์ ยังยอมรับในความล้มเหลวนี้ [6] เพราะบางพื้นที่เข้าไม่ถึงการเตือนภัยจนทำให้ประชาชนไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น ข้อมูลทางอุทกวิทยาของลำน้ำสาขาไม่ละเอียดพอที่จะประเมินความเสี่ยงได้ และการบริหารจัดการที่กระจัดกระจาย แน่นอนว่าการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันน้ำท่วม การจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการเตือนภัยล่วงหน้ามีความจำเป็น [7]  อย่างไรก็ดี การจัดการเตือนภัยที่ล้มเหลวนี้เทียบไม่ได้เลยกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรัฐมนตรีมหาดไทยของเยอรมนีก็กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้เช่นกัน [6]

ตัวเลขอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสภายหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการเป็นต้นเหตุของน้ำท่วมครั้งนี้ เพราะทำให้เกิดภาวะฝนตกสุดขั้วได้บ่อยกว่าปกติ [3] นอกจากนี้ ภัยพิบัติครั้งนี้ก็ยังทำให้นักวิชาการประหลาดใจถึงขอบเขตพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย (spatial extent) และความรวดเร็วของการเกิดภัย (speed of onset) ที่มากขึ้นอีกด้วย [4] อุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ถูกโยงเข้ากับอัตราการปล่อยแก๊สเรือนกระจก (Greenhouse Gases Emissions: GHGs Emissions) จากการผลิต [7,8] แม้ว่าองค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมของเยอรมนีอย่าง Umwelt Bundesamt จะอ้างถึงการคาดการณ์ปริมาณการปล่อย GHGs ในปี 2020 ที่ลดลงกว่าร้อยละ 40 และอาจจะเกินครึ่งหนึ่งในปี 2030 เมื่อเทียบกับปี 1990 ก็ตาม (ภาพที่ 1) [9] ในขณะที่สถิติจาก World Bank ได้กล่าวว่าแนวโน้มการปล่อย GHGs ในระดับโลกยังเติบโตอย่างต่อเนื่องกว่า 1.5 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน [22] แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่อยากให้มอง climate change เป็นสาเหตุเดียวของภัยพิบัติครั้งนี้ เพราะแท้จริงแล้วอาจมีอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น [3]

ภาพที่ 2 การลดการปล่อย GHGs ของเยอรมนีตั้งแต่ปี 1990 – 2019
และการคาดประมาณเป้าหมายการปล่อย GHGs ในปี 2020 และ 2030 (ที่มา: [9])

แล้วความซับซ้อนที่ว่าคืออะไร ?

ในการจัดการน้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นองค์ประกอบที่ถูกผนวกเข้ากับการคาดการณ์ความไม่แน่นอนด้านอื่นๆ เช่น การใช้ที่ดิน น้ำท่า การระบายน้ำ และมลพิษทางน้ำ [10] แต่นอกเหนือจากการคาดการณ์เชิงข้อมูลซึ่งมักจะเกิดร่วมกับการจัดการโครงสร้างพื้นฐานในการป้องกันน้ำท่วมแล้ว climate change ยังถูกเชื่อมโยงกับมิติทางการเมืองในหลายระดับ เพราะในอนาคต คนจะให้ความสนใจและตระหนักถึงผลกระทบของมันมากขึ้น ด้วยความที่ climate change รุนแรงพอที่จะสะเทือนเศรษฐกิจโลก [11] และสะเทือนถึงที่นั่งในสภา

ประเด็นหนึ่งที่ซ้อนทับกับ climate change อยู่ตอนนี้ คือ การเมืองเรื่องน้ำท่วม ย้อนไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีแกร์ฮาร์ท ชรอเดอร์ ลงสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบราบเป็นหน้ากลองจากน้ำท่วมบริเวณแม่น้ำเอลเบอ (Elbe river) จนได้รับเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย [12,13] ในขณะเดียวกัน เยอรมนีกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายนปีนี้ แน่นอนว่าภาวะฉุกเฉินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate emergency) กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง [14] และกลายเป็นประเด็นที่สาธารณะถกเถียงกันในวงกว้าง อันจะไปนำไปสู่ความปลอดภัยของที่อยู่อาศัยและสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ที่รองรับความต้องการของประชาชน [12]

แต่ในขณะที่อาร์มิน ลัสเชท จากพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน (Christlich Demokratische Union Deutschlands: CDU) ผู้ที่ถูกวางตัวว่าจะลงสมัครนายกรัฐมนตรีต่อจากอังเกลา แมร์เคิล (ซึ่งกำลังจะวางมือเนื่องจากเป็นนายกรัฐมนตรีมานานกว่า 16 ปี) ถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการลดการผลิตถ่านหิน ทั้งๆ ที่สหภาพยุโรปและเยอรมนีตั้งเป้าว่าจะปรับให้การปล่อย GHGs สู่ชั้นบรรยากาศในปี 2045 เป็นศูนย์ [13] และทั้งๆ ที่แมร์เคิลเองพูดอย่างชัดเจนว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนโยบายที่ต่อสู่กับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะน้ำท่วมที่มีอยู่ก่อนแล้วก็จะเกิดบ่อยยิ่งขึ้นอีก [15] นอกจากนี้ การหัวเราะของนายลัสเชทระหว่างที่ลงไปเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมยังถูกมองว่าไม่เหมาะสมอีกต่างหาก ทั้งๆ ที่เขาเป็นถึงผู้ว่าการรัฐ North Rhine-Westphalia ที่กำลังได้รับผลกระทบอยู่ [16] ความใส่ใจเรื่องการจัดการปัญหาน้ำท่วมที่เชื่อมโยงเข้ากับ climate change และ GHGs จึงกลายเป็นยุทธศาสตร์ต่อรองสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสนามการเมืองในเยอรมนี เพราะที่ผ่านมา การโยงปัญหาน้ำท่วมเข้ากับการวางแผนด้าน climate change ของเยอรมนีเองยังคงเลือนลาง ทั้งๆ ที่มีแนวโน้มการเกิดน้ำท่วมฉับพลันในเมืองมากขึ้น (และมันก็เกิดขึ้นแล้วในตอนนี้) [17]

น้ำท่วมกับการเมืองโต๊ะเล็ก

นอกจากเรื่องของ climate change ที่ถูกโยงเข้ากับน้ำท่วมจะกลายเป็นการเมืองระดับชาติแล้ว เราจะพบว่า การจัดการน้ำท่วมจำเป็นต้องกระจายอำนาจที่มีอยู่ให้ถึงมือประชาชน ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนทราบถึงความเสี่ยงที่ตนเองมี ทำอย่างไรที่ประชาชนจะได้เสนอแนวทางการจัดการของตนเองที่เหมาะสมกับพื้นที่ และทำอย่างไรที่การจัดการน้ำท่วมจะคำนึงถึงวิถีชีวิตและการพัฒนาไปข้างหน้า [18]

ในเยอรมนีเองก็มีข้อเสนอให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นกำหนดแนวทางการใช้ที่ดินด้วยตนเอง [19] ในขณะเดียวกัน ชุมชนท้องถิ่นและเมืองในเยอรมนีเรียนรู้ที่จะนำข้อมูลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝน ไปตัดสินใจวางแผนเชิงพื้นที่ ปรับปรุงระบบระบายน้ำและน้ำทิ้ง [17] ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การจัดการน้ำท่วมบูรณาการเข้ากับมิติอื่นๆ ได้ ไม่ใช่เฉพาะกับ climate change เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่จะต้องอยู่ร่วมกับน้ำท่วม ด้วยสภาพของการตั้งถิ่นฐานและการประกอบอาชีพซึ่งเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากน้ำท่วมมากกว่าในประเทศพัฒนาแล้ว [20]

เพราะฉะนั้น ความสนใจจากภาคการเมืองต่อ climate change และความเชื่อมโยงกับภัยพิบัติ ตั้งแต่การเลือกตั้ง การบริหารราชการ และการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม จึงมีผลอย่างยิ่งต่อชีวิตประชาชน มิหนำซ้ำยังเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตทางการเมือง โดยเฉพาะในวันที่ประชาชนเจอวิกฤตหนักอย่างที่ชาวเยอรมันกำลังประสบอยู่

บทสรุป

บทความคงตอบผู้อ่านไปหมดแล้วทั้งในทางทฤษฎีและจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงว่า การเมืองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา climate change และภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องหรือไม่ การทำให้ climate change (และการจัดการน้ำท่วม) เป็นประเด็นที่ปลอดการเมืองในวันที่ประชาชนเดือดร้อน ก็ไม่ต่างอะไรกับการผลักไสความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ในมือประชาชนเพียงฝ่ายเดียว การลดรูปปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงแค่เรื่องธรรมชาติ เทคโนโลยี หรือเหลือเพียงนโยบายแต่ปลอดการเมือง สะท้อนว่าเราอยู่ในภาวะซ่อนเร้น-อำพราง ไม่สามารถทำให้เรื่องพวกนี้เป็นวาระทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้ประชาชนโต้แย้งได้โดยตรง การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยต่างหากที่จะช่วยส่งเสียงความตระหนักของประชาชนต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่จัดระเบียบ-กระจายผลประโยชน์ภายในสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม [21] ในความปราศจากการเมืองที่รัฐบาลไทยใฝ่ฝัน รัฐบาลจะวางตัวและจัดการกับปัญหาอย่างไร ใครจะได้ ใครจะเสียอะไรจากความปราศจากการเมือง หรือแท้จริงแล้ว รัฐควรแสดงบทบาทเป็นผู้นำทั้งในทางนโยบายและปฏิบัติในการรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วและร้ายกาจนี้

เวลาอีกเดือนกว่าๆ ก่อนที่จะถึงฤดูน้ำหลากของไทยในปีที่ฝนตกหนักเช่นนี้ หวังว่าคงไม่เห็นนักการเมืองคนใดกล่าวอีกว่า climate change (และการจัดการน้ำท่วม) เป็นแค่ภัยธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่อยากเห็นภาพของภัยพิบัติซ้ำซ้อนนอกเหนือจากโควิด-19 อีกแล้ว…

อ้างอิง

[1] https://www.facebook.com/TOPVarawut/photos/a.674770109640931/1292861611165108/

[2] https://www.thejournal.ie/germany-floods-election-5497505-Jul2021/

[3] https://www.bbc.com/news/world-europe-57862894

[4] https://www.theguardian.com/environment/2021/jul/16/climate-scientists-shocked-by-scale-of-floods-in-germany

[5] https://www.thairath.co.th/news/foreign/2143352

[6] https://thematter.co/brief/149419/149419

[7] https://www.bbc.com/news/world-europe-57867773?fbclid=IwAR0QErQOteV7oXNdDtXKegUgkSzmiDGksSL5W90zjprBtx8-weoJwjUcD9s

[8] https://www.thairath.co.th/news/foreign/2142756

[9] https://www.umweltbundesamt.de/en/data/environmental-indicators/indicator-greenhouse-gas-emissions#at-a-glance

[10] Shah, M. A. R., Rahman, A., & Chowdhury, S. H. (2018). Challenges for achieving sustainable flood risk management. Journal of Flood Risk Management, 11, S352-S358. DOI: 10.1111/jfr3.12211

[11] https://time.com/5888866/climate-change-wildfires-political-instability/

[12] https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-19/german-floods-shake-up-campaign-as-climate-change-hits-home

[13] https://www.dw.com/en/germanys-floods-bring-climate-policy-into-focus-in-election-year/a-58290093

[14] https://www.thejournal.ie/germany-floods-election-5497505-Jul2021/

[15] https://www.wsj.com/articles/germanys-flooding-rearranges-political-picture-ahead-of-election-to-succeed-merkel-11626632466

[16] https://www.dw.com/en/merkel-successor-criticized-for-laughing-during-flood-visit/a-58305436

[17] Surminski, S., Roezer, V. & Golnaraghi, M. (2020). Flood Risk Management in Germany: Building flood resilience in a changing climate. Zurich: The Geneva Association—International Association for the Study of Insurance Economics. https://www.genevaassociation.org/sites/default/files/flood-risk-management-germany.pdf

[18] Butler, C. & Pidgeon, N. (2011). From ‘Flood Defence’ to ‘Flood Risk Management’: Exploring Governance, Responsibility, and Blame. Environment and Planning C: Politics and Space, 29(3), 533-547. https://doi.org/10.1068/c09181j

[19] Heintz, M. D., Hagemeier-Klose, M., & Wagner, K. (2012). Towards a Risk Governance Culture in Flood Policy— Findings from the Implementation of the “Floods Directive” in Germany. Water, 4, 135-156. DOI:10.3390/w4010135.

[20] Lucas. A. M. J. & Kibler, K. M. (2016). Integrated Flood Management in developing countries: balancing flood risk, sustainable livelihoods, and ecosystem services. International Journal of River Basin Management, 14(1), 19-31. DOI: 10.1080/15715124.2015.1068180

[21] Swyngedouw, E. (2011). Whose environment?: the end of nature, climate change and the process of post-politicization. Ambiente & Sociedade, 14(2), 69-87. https://doi.org/10.1590/S1414-753X2011000200006 [22] Total greenhouse gas emissions (kt of CO2 equivalent) https://data.worldbank.org/indicator/EN.ATM.GHGT.KT.CE?end=2018&start=1990

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save