CMUGS EP.11 : Southeast Asia Essay Series : สีหนุวิลล์: ภาพสะท้อนการพัฒนาที่ถดถอยจากการเข้ามาลงทุนของจีน

สุธินี  รักกุศล

นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 2
ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

……………………………………………..

สีหนุวิลล์กับการเข้ามาลงทุนของจีน

สีหนุวิลล์เป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญของประเทศกัมพูชา และเป็นเป้าหมายใหม่ในการพัฒนาของรัฐบาลกัมพูชาผ่านแผนการพัฒนา Sihanoukville 2030 เพื่อส่งเสริมให้สีหนุวิลล์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาทางเศรษฐกิจทั้งด้านการคมนาคม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ควบคู่กับการยกระดับรายได้ของประชากรให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำ นอกจากนี้ สีหนุวิลล์เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่มีมีนักลงทุนจากประเทศจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ และจะเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านโครงการ Belt and Road Initiative ของจีนนักลงทุนชาวจีนได้เข้ามามีบทบาทด้านการลงทุนในสีหนุวิลล์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรง ได้แก่ การสัมปทานธุรกิจทั้งภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงการกว้านซื้อพื้นที่เพาะปลูก ประกอบธุรกิจโรงแรม คาสิโน และท่าเรือ ส่วนในทางอ้อม ได้แก่ การให้กู้ยืมเงินและให้เงินช่วยเหลือในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การขยายถนน การสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมระหว่างภูมิภาค เป็นต้น (สมลักษณ์ ศรีราม, และ อุดมพร ธีระวิริยะกุล, 2564, น. 2115-2118) ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาของสีหนุวิลล์ในระยะยาวและความเป็นไปในอนาคตหลังจากที่เป็นฐานการลงทุน

การเปลี่ยนแปลงบริบทของพื้นที่ที่มาพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่สวนทาง

การเข้ามาของทุนจีนส่งผลให้เศรษฐกิจการลงทุนและการย้ายถิ่นของแรงงานเข้าสู่สีหนุวิลล์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วแต่ไม่ได้กระจายผลประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึงความหวังในการพัฒนาที่เคยฝากไว้กับสีหนุวิลล์จึงกลายเป็นสิ่งที่มีแนวโน้มคุกคามความกินดีอยู่ดีของประชาชนในระยะยาวแน่นอนว่าการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนชาวจีนในสีหนุวิลล์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบริบทของพื้นที่จากเมืองพักตากอากาศอันเงียบสงบที่เป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและการพักผ่อนสู่เมืองที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการค้าและคาสิโนที่เป็นจุดหมายปลายทางของกลุ่มนักพนันชาวจีน อีกทั้งธุรกิจส่วนใหญ่ในสีหนุวิลล์ถูกประกอบการโดยชาวจีนเพื่อสนองความต้องการของชาวจีนเอง กล่าวคือชาวจีนที่เข้ามาส่วนใหญ่นั้นสนับสนุนเพียงธุรกิจของชาวจีนด้วยกันเอง (วินิสสา อุชชิน, 2562) ส่งผลให้ธุรกิจท้องถิ่นของชาวกัมพูชาหลายแห่งต้องปิดกิจการลง เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนท้องถิ่นจากเดิมที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมงกลายเป็นแรงงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

ในด้านแรงงาน เนื่องด้วยค่าแรงของสีหนุวิลล์ที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเมืองอื่นในภูมิภาคจึงดึงดูดแรงงานจากจังหวัดโดยรอบและประเทศใกล้เคียง เช่น ประเทศไทย รวมถึงแรงงานชาวจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวจีนที่เข้ามาเป็นแรงงานต่างได้อภิสิทธิ์ต่าง ๆ จากนายจ้างชาวจีนทั้งค่าจ้างและสวัสดิการเหนือกว่าแรงงานท้องถิ่น (Ivan, 2020) ก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคในด้านแรงงาน การอพยพเข้ามาของแรงงานจำนวนมากผนวกกับรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพทำให้เกิดปัญหาทางสังคมและสวัสดิภาพของแรงงาน เช่น การเกิดชุมชนแออัด ปัญหาการค้าแรงงานผิดกฎหมาย ปัญหาสิทธิมนุษยชนของแรงงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมยังมาพร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาขยะและน้ำเน่าเสียในเมือง ปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่รัฐได้ทำการเวนคืนที่ดินจำนวนมากเพื่อขายและปล่อยเช่าแก่นายทุนทำให้ชาวบ้านที่ไม่มีโฉนดถูกไล่ออกไปอยู่พื้นที่รอบนอก รวมไปถึงปัญหาสังคมต่างๆ ทั้งในด้านยาเสพติดและการฟอกเงินจากธุรกิจพนัน กลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง (ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์, 2563) นักลงทุนชาวจีนที่เพิ่งเข้ามากลับได้เป็นผู้ครอบครองทุกสิ่ง แต่คนในพื้นที่เดิมกลับกลายเป็นคนชายขอบของการพัฒนา

จะเห็นได้ว่าการเติบโตของเมืองและการขยายตัวของอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วทำให้มีเพียงชนชั้นนำที่เป็นคนส่วนน้อยของสังคมเท่านั้นที่สามารถปรับตัวและรับผลประโยชน์จากการเข้ามาของทุนจีน แต่คนท้องถิ่นที่อยู่ในชนชั้นแรงงานกลับเป็นผู้ที่แทบจะไม่ได้รับประโยชน์ใด ๆ จากการพัฒนา สังเกตได้จากในปี 2562 การลงทุนโครงการก่อสร้างในสีหนุวิลล์คิดเป็นร้อยละ 37.4 ของการลงทุนทั้งหมดในประเทศ (Chea Kok Hong, 2021) ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงขึ้น แต่เศรษฐกิจที่เติบโตนั้นกลับสวนทางกับการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ เพราะ GDP ที่เติบโตนั้นเงินส่วนมากก็ถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทางและกระจุกตัวอยู่เพียงกลุ่มของนายทุนและชนชั้นนำของสังคม กลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ยากต่อการแก้ไข

สีหนุวิลล์เมื่อนักลงทุนจีนหมดบทบาทลง

หลังจากมีการประกาศให้การพนันออนไลน์เป็นสิ่งผิดกฎหมายในปี 2562 นักลงทุนจีนมีแนวโน้มชะลอการลงทุนโครงการก่อสร้างต่างๆ ในขณะที่แรงงานกัมพูชามีแนวโน้มที่จะกลับสู่ชนบทอีกครั้ง ด้วยนโยบายห้ามการพนันออนไลน์โดยนายกรัฐมนตรีฮุน เซน (กรุงเทพธุรกิจ, 2563) สะท้อนให้เห็นว่านอกจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจแล้ว นโยบายของภาครัฐก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายการลงทุน แม้ในปัจจุบัน การค้าและการลงทุนในสีหนุวิลล์จะยังคงอยู่ในยุคเฟื่องฟูจากการส่งเสริมของภาครัฐและกลุ่มนักลงทุนชาวจีน แต่ด้วยการพัฒนาที่พึ่งพาจีนมากเกินไปเนื่องจากเงินลงทุนกว่าร้อยละ 90 ในสีหนุวิลล์นั้นมาจากผู้ประกอบการชาวจีน จึงเป็นที่น่ากังวลว่าหากกลุ่มทุนจีนย้ายฐานการลงทุนออกไป สีหนุวิลล์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าอนาคตของสีหนุวิลล์เมื่อนักลงทุนจีนหมดบทบาทลงจึงอาจะเป็นไปได้ใน 3 ทิศทาง (วินิสสา อุชชิน, 2562; ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์, 2563; สมลักษณ์ ศรีราม และอุดมพร ธีระวิริยะกุล, 2564) ได้แก่

1. ด้วยโครงสร้างเมืองที่เปลี่ยนไปและราคาที่ดินที่สูงขึ้นพร้อมกับความเป็นเมือง ทำให้คนในท้องถิ่นยากที่จะซื้อคืนและกลับมาประกอบอาชีพเหมือนแต่เดิม ผู้ที่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้จึงมีเพียงกลุ่มทุนและนักธุรกิจที่เป็นชนชั้นนำของสังคม

2. แม้บทบาทของการลงทุนจะหมดไปแต่สีหนุวิลล์อาจกลายเป็น Chinatown ที่ครอบครองโดยชาวจีนหรือชาวกัมพูชาเชื้อสายจีนที่ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานอยู่ที่สีหนุวิลล์อย่างถาวร ส่วนชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในฐานะแรงงานระดับล่างต่อไป

3. สีหนุวิลล์จะประสบกับปัญหาความเสื่อมโทรมของพื้นที่ กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ถูกทิ้งร้างในชั่วขณะ ผู้คนต่างออกไปหาแหล่งงานนอกพื้นที่ แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้าอาจทำให้ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งโดยการลงทุนจากกลุ่มทุนกลุ่มใหม่หรือภาครัฐที่เข้ามาส่งเสริมการลงทุนและสร้างอัตลักษณ์ของพื้นที่ที่สูญหายไปให้กลับมาอีกครั้ง

บทสรุป

จีนและกัมพูชาอยู่ในสภาวะพึ่งพาทางเศรษฐกิจที่จีนเป็นผู้กุมอำนาจในการลงทุน ในมุมมองของจีน สีหนุวิลล์เป็นแหล่งทรัพยากร ฐานการผลิต และสถานีกระจายสินค้ากลับสู่ประเทศของตนรวมถึงกระจายไปยังประเทศรอบข้างที่สำคัญ ในขณะที่กัมพูชามองจีนในลักษณะโอกาสในการพัฒนาเพราะศักยภาพทางการเงินของกัมพูชานั้นไม่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐาน จึงต้องพึ่งพาเงินทุนและองค์ความรู้จากจีน แต่การพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากประเทศจีนมากเกินไป ส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากถูกถือครองโดยผู้ประกอบการชาวจีน แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไม่ได้ตกสู่คนในพื้นที่อย่างแท้จริง

จากคำกล่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ที่ว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เราลงทุนกว่า 300 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐลงไปที่เมืองเดียว มันมีความจำเป็นมากเพราะเราต้องทำโครงสร้างพื้นฐานของเมืองพระสีหนุให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ที่หลากหลาย และเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา” (Samean, 2021) เราจึงไม่เห็นภาพของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาวิถีชีวิตของแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่สะสมมานานนับปี ในขณะเดียวกัน ความหวังของกัมพูชาในการพึ่งพาการพัฒนาจากจีนภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative เพื่อร่วมมือลงทุน เคลื่อนย้ายฐานการผลิต กระตุ้นการค้า และแสวงหาทรัพยากร กลายเป็นภัยคุกคามต่อประเทศในระยะยาวจากการมุ่งพัฒนาเพียงด้านเศรษฐกิจที่อาจจะตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาของภาครัฐ แต่ไม่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของประชากร เพราะขาดการคำนึงถึงมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ถดถอย เศรษฐกิจที่เติบโตจึงไม่ได้เป็นทั้งหมดของตัวชี้วัดคุณภาพของการพัฒนา ถึงเวลาแล้วหรือยังที่การพัฒนาจะให้คุณค่าของคุณภาพชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นนามธรรม

บรรณานุกรม

กรุงเทพธุรกิจ. (2563). ส่องอนาคต’สีหนุวิลล์’วันที่ทุนจีนไหลกลับ. ค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/861766.

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์. (2563). สีหนุวิลล์: สวรรค์ของคนจีนนรกของคนกัมพูชา. ค้นจาก https://waymagazine.org/sihanoukville.

วินิสสา อุชชิน. (2562). การลงทุนของจีนบนชายฝั่งทะเลในกัมพูชา. กระแสเอเชีย, 2, จาก  http://asiatrend.ias.chula.ac.th/รายละเอียดบทความ/การลงทุนของจีนบนชายฝั่งทะเลในกัมพูชา.

สมลักษณ์ ศรีราม, และ อุดมพร ธีระวิริยะกุล. (2564). บทบาทของจีนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของ  จังหวัดสีหนุวิลล์ประเทศกัมพูชา. [รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์]. วารสารสันติศึกษาปริทรรศน์ มจร9(5), 2115-2118.

Chea Kok Hong, H. E. (2021). Master Plan of Sihanoukville Province Multi-Purpose Special Economic Zone, (Cambodia). from https://www.unido.org/sites/default/files/files/2021-02.

Ivan, F. (2020). As far apart as earth and sky: a survey of Chinese and Cambodian construction workers in Sihanoukville, Critical Asian Studies, 52:4, 512-520.

Samaen, L. (2021). PM says nation’s growth to be driven by Sihanoukville. from https://www.phnompenhpost.com/national/pm-says-nations-growth-be-driven-sihanoukville.

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save