CMUGS EP.10 : Southeast Asia Essay Series :  เมืองโตเดี่ยวของไทยกับคุณภาพชีวิตของประชากรและแรงงานข้ามชาติ

อัษฎาวุธ อินทรมา

นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 2
ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

…………………………………………….

เมืองโตเดี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่แตกต่างของผู้คน

      ประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนามักมีการเติบโตของเมืองในลักษณะเมืองโตเดี่ยว หรือในอีกชื่อ “เอกนคร” (Primate city) ซึ่งสร้างความแตกต่างของระดับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจระหว่างเมืองโตเดี่ยวและเมืองรอง เกิดการอพยพย้ายเข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสด้านเศรษฐกิจจากภูมิภาครอบข้าง เป็นผลให้เอกนครมีจำนวนประชากรจำนวนมากเกินขอบเขตที่จะรองรับด้านสวัสดิการหรือการบริการของรัฐด้านต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมักจะเป็นกลุ่มคนยากจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขาดอำนาจในทางเศรษฐกิจ กลุ่มคนยากจนเหล่านี้มักอยู่อาศัยในพื้นที่แออัดและขาดสุขาภิบาลที่ดี (วรรโณบล ควรอาจ, 2556, น. 8-10; กาญจนา ตั้งชลทิพย์, 2550, น. 1)       จากความแตกต่างของการพัฒนาระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนนี้เองนำมาสู่คำถามสำคัญในการศึกษาที่ว่า ในขณะที่เมืองมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจขยายตัว เป็นแหล่งของความมั่งคั่ง ทำไมปัญหาความยากจนถึงเป็นปัญหาหลักที่แก้ได้ยาก โดยในบทความนี้เลือกศึกษากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยมาศึกษาเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าว พร้อมกับตั้งคำถามว่า ถ้าหากมีการพัฒนาเมืองหลักและเมืองรองไปพร้อม ๆ กัน ระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์จะเป็นอย่างไร โดยในการศึกษาครั้งนี้เจาะลึกคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานทั้งในประเทศและแรงงานข้ามชาติ

ประวัติศาสตร์ความเป็นเมืองโตเดี่ยวของไทยกับการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงาน

      กรุงเทพมหานคร – เมืองหลวงของประเทศไทย – เป็นเมืองที่มีลักษณะโตเดี่ยวมานาน รวมถึงมีความน่าสนใจทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์ และนโยบายการการพัฒนา หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนา กรุงเทพฯ ก็จะยังครองความเป็นเมืองโตเดี่ยวต่อไปอีกยาวนาน

       กรุงเทพมหานครถูกสร้างให้เป็นศูนย์กลางการปกครองตั้งแต่มีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2325 (สวพ. FM 91, 2561) ต่อมามีรวมอำนาจการปกครองเข้าสู่ส่วนกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้กรุงเทพฯ มีความสำคัญในแง่ของการปกครองมากขึ้น ทรัพยากรจากเมืองต่างๆ ถูกจัดเก็บในรูปภาษี และนำเข้าสู่เมืองหลวงสร้างเป็นโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น เส้นทางคมนาคม เป็นต้น ประจวบกับอิทธิพลของตะวันตกที่แผ่เข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกฉียงใต้ ทำให้มีการรับเอาความเป็นทุนนิยมเข้ามา  และมีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เป็นรูปแบบตติยภูมิมากยิ่งขึ้น (อนุสรณ์ ธรรมใจ, 2563) หากมองในด้านประชากรจะพบว่าในปี พ.ศ. 2490 กรุงเทพฯ มีจำนวนประชากรในพื้นที่มากกว่าหนึ่งล้านคน โดยมีมากกว่าจำนวนประชากรในเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองรองถึง 21 เท่า (กาญจนา ตั้งชลทิพย์, 2550, น. 2)

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 มีการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเเห่งฉบับแรก โดยแผนดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เป็นหลัก เช่นเดียวกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 2 และ 3 จวบจนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 ในปี พ.ศ. 2520 ยังคงเน้นการพัฒนาที่กรุงเทพฯ แต่เริ่มมีการขยายการพัฒนาสู่พื้นที่ปริมณฑล ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 เริ่มมีการขยายการพัฒนาสู่ภาคตะวันออกให้เป็นเมืองท่ารองรับสินค้าและการส่งออกสู่ต่างประเทศในช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังเฟื่องฟู ส่งผลให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 6 มีความพยายามในการนำพาประเทศไปสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrialized Country: NIC) พึ่งพาเศรษฐกิจจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น (สยามรัฐออนไลน์, 2562) ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 นี้ก่อนฟองสบู่แตกในปี พ.ศ.2540 นี้เองจึงเป็นช่วงเวลาที่เกิดการอพยพเข้ามาของแรงงานจากชนบทและประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก มีการจ้างงานกรรมกรก่อสร้าง และพนักงานในภาคธุรกิจต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรในกรุงเทพเพิ่มขึ้นหลายเท่าในช่วงเวลาเพียงไม่นาน (กาญจนา ตั้งชลทิพย์, 2550, น. 6-10; วสวัตติ์ สุติญญามณี, 2557, น. 5-9) จากการสำมะโนประชากรเมื่อปี 2543 มีจำนวนประชากร 6,355,144 คน แต่ในปี พ.ศ. 2553 ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 8,249,117 คน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2553)

คุณภาพชีวิตของประชากรและแรงงานข้ามชาติในเมืองโตเดี่ยว

          แม้ว่ากลุ่มแรงงานอพยพมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ แต่รัฐไทยประสบปัญหาในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่กลุ่มคนดังกล่าวตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องด้วยความล้มเหลวในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในชนบท กลุ่มคนเหล่านี้จึงอพยพย้ายถิ่นเข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นภายในเมือง แต่แล้วหลายคนกลับพบว่าพวกเขากำลังถูกสังคมทอดทิ้งยิ่งกว่าเดิม ดังเช่นในกรณีของตาไหม แรงงานจากชนบทที่อพยพเข้ามาหางานในเมืองหลวงกว่า 20 ปี ทำงานรับจ้างขนส่งถ่านไม้ให้ร้านอาหารและร้านทองในเยาวราชแลกกับค่าแรงครั้งละ 150 บาท แต่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านริมคลองอันทรุดโทรมแต่อยู่ใกล้แหล่งทำงานกว่าเดือนละ 2,600 ปีต่อปี (The Active, 2564) นอกจากนี้ นุชนารถ แท่นทอง (2564) ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนจนเมืองว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ถูกสังคมทอดทิ้ง ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐไม่มีสวัสดิการที่เพียงพอสำหรับพวกเขา การไม่กระจายความเจริญออกจากศูนย์กลาง และการที่รัฐไม่ได้รับฟังเสียงของคนจนมากพอ การอยู่อาศัยของคนจนเมืองในพื้นที่รกร้าง เช่น ตามทางระบายน้ำ พื้นที่ว่างเปล่า ตามใต้สะพานเป็นที่พักอาศัย หรืออยู่รวมกันเป็นชุมชนแออัดที่เรียกว่า “สลัม” ในภาพที่ 1 สะท้อนโลกคู่ขนานระหว่างสังคมเมืองที่เติบโตกับผู้คนที่ถูกทอดทิ้ง ในขณะเดียวกัน ประภาส ปิ่นตบแต่ง (2560) กล่าวไว้ว่า ปัญหาการไล่รื้อที่ดินในเขตชุมชนแออัดที่มาจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐ ส่งผลต่อความไม่มั่นคงของที่อยู่อาศัยด้วย

ไม่ต่างจากแรงงานอพยพจากชนบท แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาในไทยเป็นกลุ่มของแรงงานไร้ทักษะที่เข้ามาแสวงหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า แต่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้กลับมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบมากกว่าประชากรไทย แม้ว่าจะมีกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานต่างชาติอยู่บ้าง แต่การบังคับใช้กฎหมายเหล่านั้นพบอุปสรรคหลายอย่าง เช่น การที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้ลงทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอุปสรรคทางด้านภาษา การลักลอบข้ามแดนผ่านขบวนการค้ามนุษย์ รวมไปถึงปัญหาด้านการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษา ปัญหาเหล่านี้ทำให้แรงงานจำนวนมากไม่ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมและเป็นกลุ่มคนที่แร้นแค้นที่สุดในเมือง (ข่าวสด, 2563).

ภาพที่ 1 ปัญหาชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ
อ้างอิง : ประภาส ปิ่นตบแต่ง (2560)

เมืองโตเดี่ยว หรือ เมืองโตเท่ากัน ?

          เมืองโตเดี่ยวมีข้อเสียมากกว่าข้อดี การกระจุกตัวของความเจริญบริเวณศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศช่วยให้ความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้นได้ก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้กลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ การที่เมืองต่าง ๆ มีการเติบโตและระดับการพัฒนาที่เท่า ๆ กันจึงอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเมืองอย่างเท่าเทียม ระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ การยกระดับการพัฒนาเมืองทำได้โดยส่งเสริมแหล่งงานและการจ้างงานที่เพียงพอ สอดคล้องกับวิถีการใช้ชีวิตของผู้คน เพื่อลดการอพยพย้ายออกจากบ้านเกิดไปทำงานไกลซึ่งมีค่าใช้จ่ายและอุปสรรคมากมาย การเสริมสร้างแหล่งงานในท้องถิ่นยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว สนับสนุนการดูแลด้านสวัสดิการแก่ครอบครัว และที่สำคัญที่สุด การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองด้วยการกระจายอำนาจ ทรัพยากร และการมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวนโยบายการพัฒนาประเทศออกจากศูนย์กลาง อาจเป็นกลไกในการเพิ่มพลังอำนาจให้แก่เมืองรอง เมืองเล็ก และประชาชนหลากหลายกลุ่ม ซึ่งถ้าหากเมืองทุกเมืองมีการพัฒนาในระดับที่ใกล้เคียงกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะลดลง คุณภาพชีวิตของประชากรในชนบทจะดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ปัญหาการอพยพของแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่เมืองโตเดี่ยวของไทย ยังคงเป็นวิกฤตการณ์ทางประชากรระหว่างประเทศที่สำคัญที่รัฐไทยควรให้ความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์และการส่งเสริมสวัสดิการที่ดีให้แก่แรงงานข้ามชาติ เพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ และให้แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยต่อไป การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่กลุ่มแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาตินั้น รัฐควรมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงด้านสวัสดิการ รายได้ การศึกษา สาธารณสุข สิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อเป็นหลักประกันพื้นฐานในการดำรงชีวิต (safety net) ในขณะเดียวกัน การกระจายความเจริญออกสู่ต่างจังหวัดก็ยังคงเพิ่มโอกาสการจ้างงานแก่แรงงาน ลดความแออัดในการอยู่อาศัยในเมืองใหญ่ และเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทยอีกด้วย

บทสรุป

          เมืองโตเดี่ยวหรือเอกนครเป็นศูนย์กลางของความมั่งคั่งของประเทศ สามารถสร้างแหล่งงานและโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างมหาศาล ดึงดูดผู้ที่ต้องการแสวงหาโอกาสในการทำมาหากินที่ดีขึ้นในเมืองโตเดี่ยว ทั้งประชากรจากชนบทและแรงงานข้ามชาติ ผลที่ได้คือผู้คนล้นเกินความสามารถของเมืองที่จะจัดหาสวัสดิการเพื่อดูแลประชากรได้อย่างทั่วถึง ดังกรณีตัวอย่างของกรุงเทพฯ ที่ผู้คนมากมายถูกทอดทิ้ง และใช้ชีวิตอย่างแออัดและขัดสนในสลัม สะท้อนภาพการเติบโตของเศรษฐกิจที่รวบอำนาจการสู่ศูนย์กลางและเน้นพัฒนากรุงเทพฯมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ แต่ไม่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเป็นเมืองโตเดี่ยวจึงให้ผลเสียมากกว่าผลดีในการพัฒนา หากมีการกระจายทรัพยากรสู่ภูมิภาคอื่น ปัญหาของการเป็นเมืองโตเดี่ยวจะค่อยๆ ได้รับการเยียวยา ในขณะเดียวกันระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตก็จะมากขึ้นทั้งต่อแรงงานชนบท กลุ่มคนยากจน และแรงงานข้ามชาติ ผลที่ได้จะทำให้ไทยมีการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคม สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างไม่ยากเย็นต่อไปในอนาคต

บรรณานุกรม

กาญจนา ตั้งชลทิพย์. (2550). กรุงเทพมหานคร: เมืองโตเดี่ยวตลอดกาลของประเทศไทย (รายงานการ    วิจัย). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.

กัญญารัตน์ ทุสาวุธ. (2562). คุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติกรณีศึกษาแรงงานสัญชาติพม่า เขตตำบล มหาชัยอำเภอเมืองจังหวัดสมุทรสาคร. , สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์.

ข่าวสด. (2563). 5 เหตุผล ทำไมแรงงานต่างด้าวนิยมเข้ามาทำงานในประเทศไทย. ค้นจาก https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_5583279

ธนาคารเเห่งประเทศไทย. (2562). ข้อเท็จจริงและข้อสรุปเชิงนโยบายแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย. https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256402TheKnowledge_MigrantWo           rkers-.aspx

นิภาพรรณ เจนสันติกุล. (2556). แนวคิดความเป็นเมืองและมิติทางเศรษฐกิจ. วารสารมนุษย์ศาสตร์       สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ8(1), 81-95.

นุชนารถ แท่นทอง. (2564). ผลักคนจนเมืองให้จนมุม เมื่อแรงงานสร้างเมือง กำลังไร้สิทธิอยู่ในเมือง. ค้น จาก https://theactive.net/read/poverty-series-4regionsslum-interview/

ประภาส ปิ่นตบแต่ง. (2560). ปฏิรูปที่ดินเพื่อ “คนจนเมือง”. ค้นจาก https://www.chula.ac.th/cuinside/2496/

วรรโณบล ควรอาจ. (2556). กระบวนการกลายเป็นเมืองในประเทศไทย (รายงานการวิจัย). ม.ป.ท.: ม.    ป.พ.

วสวัตติ์ สุติญญามณี. (2557). จากชนบทสู่เมือง:ปัจจัย ผลกระทบ จากการย้ายถิ่น (รายงานการวิจัย). ม.  ป.ท.: ม.ป.พ.

สวพ. FM 91. (2561). 21 เมษายน \”236ปี\” สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์. ค้นจาก        https://www.fm91bkk.com

สยามรัฐออนไลน์. (2562). ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ กับอุตสาหกรรมใหม่. ค้นจาก      https://siamrath.co.th/n/60406

สรุปวิวัฒนาการของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาต. (ม.ป.ป.). ค้นจาก https://www.nesdc.go.th/article_attach/article_file_20191018111514.pdf

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2553). สำมะโน. ค้นจาก http://service.nso.go.th/nso/nsopublish/census/census.html

อนุสรณ์ ธรรมใจ. (2563). บทเรียนจากการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงการอภิวัฒน์ 2475 (ตอนแรก). ค้น         จาก https://pridi.or.th/th/content/2020/10/471

อภิวัฒน์ รัตนวราหะ. (2563). คนไทยในอนาคตล้วนเป็นคนเมือง. ค้นจาก      https://www.the101.world/future-urbanites/

The Active. (2564). ซอกหลืบเยาวราช: เมืองแบ่งชั้น ขยันแค่ไหน ก็ไปไม่ถึงฝัน. ค้นจาก https://theactive.net/read/urban-poor-doc-ep1/?fbclid=IwAR04f_PZzOV4TD0xaQ0my3zUhiPmupdqTZKyCXW8yzhyuHWz0ZWHKc1GVnQ The Matter. (2560). Urbanization: เมื่อเมืองขนาดกลางคืออนาคต. ค้นจาก           https://thematter.co/thinkers/urbanization-trend/21171

แชร์ข้อความ:

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save